Red Hat เหยียบคันเร่ง ‘ไฮบริดคลาวด์แบบเปิด’ (Cyber Weekend)

เกาะติดไฮไลต์จากงานเร้ดแฮทซัมมิทครั้งล่าสุด Red Hat Summit 2021 ปีนี้เจ้าพ่อโอเพ่นซอร์สเหยียบคันเร่งเต็มตัวกระตุ้นองค์กรใช้ไฮบริดคลาวด์แบบเปิด ฟันธง Red Hat แข่งขันดีขึ้นในตลาดคลาวด์เพราะช่วยให้ลูกค้ารับประโยชน์เต็มที่จากคลาวด์คอมพิวติ้ง

คลาวด์คอมพิวติ้งนั้นเป็นบริการเช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์และทรัพยากรอื่นๆ ผ่านออนไลน์ โดยสามารถปรับสเปกต่างๆ ตามการใช้งานจริงโดยที่องค์กรไม่ต้องเทงบประมาณซื้อเครื่องหรือติดตั้งระบบที่ราคาสูง วันนี้องค์กรไม่เพียงเลือกใช้ไพรเวตคลาวด์ (ระบบคลาวด์ขององค์กร) และพลับลิกคลาวด์ (คลาวด์สาธารณะที่เปิดให้หลายองค์กรใช้งาน) แต่ยังสามารถใช้ไฮบริดคลาวด์ที่ผสมคลาวด์ 2 แบบอย่างเป็นเนื้อเดียว เพื่อรองรับทั้งข้อมูลสำคัญที่ต้องการความรวดเร็วในการประมวลผลจัดการที่แตกต่างกัน

กวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย เร้ดแฮท ประเทศไทย ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องหันมาใช้ไฮบริดคลาวด์ เพราะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยยกตัวอย่างบริษัทโลจิสติกส์ที่ต้องรับมือกับการขนส่งสินค้าจำนวนมากในเทศกาลลดราคาสินค้า รวมถึงโรงพยาบาลที่ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาผู้ป่วยให้รวดเร็ว พร้อมกับหลายองค์กรที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานในแอปพลิเคชันรูปแบบใหม่ที่ติดตั้งอยู่ที่ไซต์งาน หรือสาขา ซึ่งเรียกกันว่า ‘เอดจ์’ (Edge Computing) ที่จะทำงานได้ฉลาดและเร็วกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่รองรับงานในสาขาวันนี้ที่ไม่ค่อยทัน

‘งาน Red Hat Summit 2021 ที่จัดขึ้นในวันที่ 27-28 เม.ย.2564 จึงมีการพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะไฮบริดคลาวด์ และเอดจ์คอมพิวติ้ง จุดนี้ประเทศไทยยังต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มศึกษาเครื่องมือที่แม้จะมีลักษณะคอนเซ็ปต์การทำงานคล้ายกัน แต่การจะใช้งานต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้แน่ใจเมื่อใช้งานจริง’

***ไฮบริดคลาวด์ต้องเปิด

1 ใน 3 ไฮไลต์จากงาน Red Hat Summit 2021 คือการประกาศเพิ่มขีดความสามารถให้แก่แพลตฟอร์มเร้ดแฮทโอเพ่นชิฟต์ (Red Hat OpenShift) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคูเบอร์เนเตส (Kubernetes) ระดับองค์กรที่ช่วยเสริมการรองรับงานสำคัญ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), แมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML), จาวา (Java) และเวอร์ชวลไลเซชัน (Virtualization) รวมถึงนวัตกรรมอื่นบนแพลตฟอร์มได้ดีขึ้น โดยความพิเศษคือ OpenShift นั้นเป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์แบบเปิด (Open Hybrid Cloud) ซึ่งเร้ดแฮทจะโฟกัสเต็มที่ในปีนี้

สุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการฝ่ายสถาปัตยกรรมโซลูชัน เร้ดแฮท ประเทศไทย อธิบายว่า ความแตกต่างระหว่างไฮบริดคลาวด์และไฮบริดคลาวด์แบบเปิด คือการไม่ต้องผูกกับบริการคลาวด์เจ้าไหน เป็นการเปิดกว้างรับทุกบริการคลาวด์โดยไม่ต้องแก้ไขอะไรในระบบ โดยปัจจุบัน ลูกค้าองค์กรต้องการใช้งานโอเพ่นคลาวด์แบบไม่ยึดติดกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ซึ่งหากต้องการจัดการข้อมูลด้วยความเร็วสูงก็จะเลือกใช้บริการคลาวด์สาธารณะ แต่ก็เลือกเก็บข้อมูลสำคัญที่ไม่ต้องการความเร็วไว้บนเครือข่ายออนพรีมิสที่บริษัทลงทุนตั้งขึ้นเอง

‘องค์กรในประเทศไทยมีความพร้อมใช้ Open Hybrid Cloud ต่างกันเนื่องจากประเทศไทยมีธุรกิจหลากหลาย บางองค์กรใหญ่มีการใช้โอเพ่นซอร์ส หรือซอฟต์แวร์มาตรฐานเปิดมานานแล้ว กลุ่มนี้จะมีความพร้อมไปที่ Open Hybrid Cloud มากกว่าบางองค์กรที่ยังใหม่ เบื้องต้นพบว่าตลาดธนาคารเกิน 50% มองหา Hybrid Cloud และมีเป้าหมายจะไปถึงการทำงานแบบ Open Hybrid Cloud ในอนาคต’

เทรนด์ใช้งานไฮบริดคลาวด์แบบเปิดบนยี่ห้อใดก็ได้ ทำให้ปีนี้เร้ดแฮทพร้อมจับมือกับผู้ให้บริการพลับลิกคลาวด์ทุกเจ้า กลายเป็นไฮไลต์ที่ 2 ที่เร้ดแฮทจะเหยียบคันเร่งในปีนี้ นั่นคือขยายการให้บริการแมเนจคลาวด์เซอร์วิส (Managed Cloud Service) ของบริษัท เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องติดต่อเวนเดอร์เจ้าเดียวอีกต่อไป

เร้ดแฮทอธิบายว่า แม้แพลตฟอร์ม OpenShift จะมีประสิทธิภาพมาก แต่ยังมีลูกค้าต้องการ Managed Cloud Service ที่สามารถใช้งาน OpenShift ได้สะดวกรวดเร็วที่สุด บริการ Managed Cloud Service ที่เร้ดแฮทนำเสนอจึงต้องการตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว

ที่ผ่านมา องค์กรต้องการใช้ประโยชน์จากบริการ Managed Cloud Service เพิ่มเติมนอกเหนือจากการรันแอปพลิเคชันบน OpenShift และแม้ว่า Managed Service จะรองรับบริการ 4 เจ้าหลักอย่างอะเมซอนเว็บเซอร์วิส (AWS), อาซัวร์ (Azure) กูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) และไอบีเอ็ม คลาวด์ (IBM Cloud) แต่ลูกค้าก็ยังต้องการที่จะผนวกรวมบริการดังกล่าวให้เข้ากันได้กับสถาปัตยกรรมไฮบริดคลาวด์ของตัวเอง โดยบริการเหล่านี้จะต้องมีประสิทธิภาพทั้งสำหรับลูกค้าที่ใช้งานบนดาต้าเซ็นเตอร์ภายในองค์กร และลูกค้าที่ใช้งานบนพับลิกคลาวด์ ทำให้เร้ดแฮทเปิดตัวบริการ Managed Cloud Service ใหม่ที่ใช้งานได้หลากหลายเป็นครั้งแรก

‘บริการคลาวด์พื้นฐานรูปแบบใหม่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างแอปพลิเคชันรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการกระจายข้อมูล ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูล และรองรับการเข้าถึงข้อมูล ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความซับซ้อนในการดำเนินงาน ด้วยการถ่ายโอนการจัดการดูแลไปให้กับเร้ดแฮท โดยที่ยังคงสามารถใช้งานร่วมกับสภาพแวดล้อม OpenShift ที่ติดตั้งไว้ภายในและภายนอกองค์กร’ เร้ดแฮท ระบุ

***จาก Linux ถึง Edge ในยุคโควิด-19

นอกจาก 2 ไฮไลต์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ให้เร้ดแฮทนำเสนอไฮบริดคลาวด์แบบเปิดสู่ตลาดได้เต็มที่ ยังมีไฮไลต์ที่ 3 ซึ่งถูกประกาศในงานนี้ นั่นคือ ‘เร้ดแฮทเอดจ์’ (Red Hat Edge) ซึ่งจะทำให้องค์กรมีระบบบริหารจัดการข้อมูลประสิทธิภาพสูงไว้ใช้งานที่สาขาได้หลากหลายกว่าเดิม โดย Red Hat Edge ถูกอธิบายว่าเป็นส่วนต่อขยายภายใต้กลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์แบบเปิดที่ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ซึ่งรวมระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux) ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วในชื่อ Red Hat Enterprise Linux 8.4

‘จุดหลักที่ทำให้ทุกคนอยากไป Open Hybrid Cloud คือเมื่อมองไปในยุคก่อน เรามีการใช้คอมพิวเตอร์หลายยี่ห้อแต่ก็สามารถใช้ระบบปฏิบัติการ Linux ทำงานได้โดยไม่ต้องคิดถึงยี่ห้อเครื่อง วันนี้เมื่อถึงยุคที่คลาวด์เกิดขึ้นมา เราจึงต้องการตอบโจทย์ Open Hybrid Cloud เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องยึดติดกับเจ้าไหนโดยที่ยังสามารถทำงานได้ทั้งหมดได้ง่ายขึ้น’

สำหรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้บริหารเร้ดแฮทระบุว่า ยังไม่มีตัวเลขสถิติการลงทุนที่เปลี่ยนไป แต่เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเวิร์กโหลด พบว่า ปริมาณงานของธุรกรรมในองค์กรส่วนใหญ่มีมากขึ้น และการอยู่บ้านมากขึ้นทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อต้องออนไลน์เสมอทรานเซกชันจึงเติบโตมาก ดังนั้น การใช้งานทั้งไพรเวตคลาวด์และพลับลิกคลาวด์ของทุกธนาคารจึงมีการเติบโตสูงมาก

ภารกิจสำคัญที่เร้ดแฮทโฟกัสในปีนี้ คือการทำให้ ‘เทคโนโลยีที่บริษัทมี’ สามารถเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจและเข้าถึงคอมมูนิตีที่แชร์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทยังคงจัดสัมมนาแบบต่อเนื่องซึ่งครอบคลุมเนื้อหาการทำแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มคูเบอร์เนเตสอย่างปลอดภัย

ทั้ง 3 ไฮไลต์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวล้วนพร้อมให้บริการสำหรับลูกค้าในไทย เบื้องต้นมองว่าแม้องค์กรไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนในช่วงโควิด-19 มากขึ้น จนทำให้โครงการที่ไม่สำคัญอาจจะชะลอไป แต่ในแง่ของโอกาส บริษัทยังรอดูว่าโควิด-19 ทำให้เกิดทรานเซกชันมากขึ้นมหาศาล เมื่อผู้ใช้ขยายตัวเช่นนี้ก็ย่อมต้องมีระบบที่รองรับให้ได้

สำหรับ Edge ผู้บริหารระบุว่า วันนี้ได้เห็นการนำ 5G มาต่อยอดเอดจ์ในลูกค้าไทยแล้ว โดยเป็นการสร้างบริการใหม่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสามารถรับรู้ประโยชน์แบบจับต้องได้ แต่ยังต้องมีการหายูสเคสเพิ่มเติมอย่างจริงจังต่อไป

Leave a Comment